วันพฤหัสบดีที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2551

ความสำคัญของบรรณาธิกร


มารู้จักกับคำว่าบรรณาธิกรและบรรณาธิการ
คำว่า "บรรณาธิกร" โดยทั่วไปมักเขียนว่า "บรรณาธิกรณ์" ทั้งนี้ มีนักวิชาการหลายท่านอธิบายว่า คำว่าบรรณาธิกรณ์มาจากคำบาลีว่า "บรรณ" รวมกับคำว่า "อธิกรณ์" คำว่า บรรณ หมายถึงหนังสือ คำว่า อธิกรณ์ หมายถึงเหตุ โทษ คดี เรื่องราว ดังนั้นคำว่าบรรณาธิกรณ์จึงหมายถึง เรื่องราวที่เกี่ยวกับหนังสือ ซึ่งจะเห็นว่าเป็นคำที่กว้างขวางมาก เพราะไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไรที่เกี่ยวข้องกับหนังสือ ก็เรียกว่าบรรณาธิกรณ์ได้ทั้งสิ้น

คำว่า "บรรณาธิกร" ตามพจนานุกรม ฉบับบัณฑิตราชสถาน พ.ศ.2525 คำว่าบรรณาธิกร เป็นคำโบราณ หมายถึง การรวบรวมและจัดเลือกเฟ้นเรื่องลงพิมพ์ จะเห็นว่าคำ ๆ นี้น่าจะตรงกับคำว่า Editing

ส่วนบรรณาธิการ หมายความว่า บุคคลซึ่งรับผิดชอบในการจัดทำตรวจแก้ คัดเลือก หรือควบคุมบทประพันธ์ หรือสิ่งอื่นในหนังสือพิมพ์

อย่างไรก็ดี ในวงการวารสารศาสตร์ ก็นิยมใช้ทั้ง 2 คำ โดยให้ความหมายที่เหมือนกันว่าตรงกับคำว่า Editing ในภาษาอังกฤษ หมายถึง การเตรียมการตรวจแก้ปรับปรุงต้นฉบับ การคัดเลือกเรื่อง การคัดเลือกอักษรพิมพ์ การพิสูจน์อักษร การพาดหัวข่าว การเขียนชื่อเรื่อง การใช้ภาพ และการวางรูปแบบการเข้าหน้า
จะเห็นว่า การบรรณาธิกร ก็คือกระบวนการเชื่อมต่อระหว่างการเขียนเรื่องและการเผยแพร่ออกไป เป็นกระบวนการที่ทำให้เรื่องซึ่งเป็นวัตถุดิบนั้นกลายสภาพไปอยู่บนสื่อที่จะส่งถึงผู้อ่านได้นั่นเอง


ความสำคัญของบรรณาธิกรหนังสือ

หนังสือในปัจจุบันถ้าเทียบกับในอดีตแล้วนับว่าพัฒนาไปมาก ตั้งแต่ขั้นตอนการผลิต การจัดจำหน่ายจนมาถึงมือของผู้อ่าน อีกทั้งเนื้อหาสาระก็มีมากมายหลากหลายประเภทในเราได้เลือกอ่านกันนับไม่ถ้วน ไม่ว่าจะเป็นหนังสือประเภท ตำราเรียนในสาขาหรือแขนงต่างๆ แล้วยังมีหนังสือประเภทหนังสือพิมพ์ นิตยสาร นวนิยาย เรื่องสั้น สารคดี ชีวประวัติ ซุบซิบดารา ฯลฯ มีทั้งที่เป็นภาษาของเราเองและที่แปลมาจากภาษาต่างประเทศ ให้เราได้อ่านกัน

โดยคุณองอาจ จิระอร (บก.อำนวยการสำนักพิมพ์อมรินทร์ฯ) กล่าวไว้ใน การอบรมเรื่องการหาต้นฉบับและนักเขียนในปีที่ผ่านมา ว่า จำนวนหนังสือที่ออกใหม่เพิ่มขึ้นทุกๆ วัน มากถึง 2,000 เล่มต่อเดือน
(นั่นคือผลรายงานจากปีที่ผ่านมา) และในปัจจุบันมีแนวโน้มว่าจะมากขึ้น

เป็นที่น่าดีใจแทนนักอ่านทุกท่านที่มีหนังสือให้เลือกซื้อเลือกอ่านกันมากมายขนาดนี้ แต่จะมีสักกี่คนที่จะเลือกอ่านและในสิ่งที่เลือกอ่านนั้นไม่รู้ว่าจะมีสาระมากน้อยแค่ไหน เพราะหนังสือที่ผลิตออกมานั้นก็มาก มีทั้งที่ได้มาตรฐาน และไม่ได้มาตรฐานในเรื่องรูปแบบและเนื้อหา จะเป็นประโยชน์หรืออาจจะเป็นการมอมเมาให้ผู้อ่านหลงผิด หากผู้อ่านยังมีวุฒิภาวะยังน้อย ไม่สามารถพิจารณาได้ว่าดีหรือไม่ดีอย่างไร อาจจะนำไปสู่การเลียนแบบ เมื่อเราเข้าไปในร้านหนังสือในแต่ละที่จะเห็นว่า หนังสือส่วนใหญ่จะเป็นหนังสือที่ไม่ค่อยมีสาระ ผู้ผลิตเห็นว่าหนังสือประเภทไหนขายดี ก็พากันผลิตหนังสือประเภทนั้นออกมามาก โดยไม่คำนึงถึงประโยชน์ที่ผู้อ่านจะได้รับ

ฉะนั้นการผลิตหนังสือที่ดีมีคุณภาพได้ จำเป็นต้องอาศัย บรรณาธิการ เพราะบรรณาธิการจะเป็นบุคคลซึ่งรับผิดชอบในการจัดทำตรวจแก้ คัดเลือก หรือควบคุมบทประพันธ์ หรือสิ่งอื่นในหนังสือพิมพ์ ดังที่ สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้ความสำคัญของการบรรณาธิกร คือ การอ่านต้นฉบับอย่างละเอียดแบบ General reader เพื่อการตรวจข้อเท็จจริงและตรวจภาษา ขัดเกลาให้ถูกต้องตามแบบแผนการสื่อสารหรือตามไวยากรณ์เป็นสำคัญ และมิได้มุ่งที่การแก้ไขเปลี่ยนแปลงสำนวนหรือลีลาการเขียนของผู้เขียน แต่จะคงความเป็นแบบฉบับของผู้เขียนไว้ นอกจากนี้ การบรรณาธิกรอาจจะช่วยขจัดข้อความที่หมิ่นประมาท และข้อความที่เข้าข่ายละเมิดลิขสิทธิ์ก็ได้อีกด้วย


ความรู้พื้นฐานสำหรับงานบรรณาธิการ
จารุวรรณ สินธุโสภณ (๒๕๔๒ ,หน้า ๕) ได้ให้คำแนะนำว่าเรื่องที่บรรณาธิการต้องหาความรู้เพื่อเป็นการเตียมตัว หรือต้องฝึกฝนให้ชำนาญได้แก่
๑. วิชาการ เมื่อบรรณาธิการจะต้องตรวจต้นฉบับงานวิชาการในสาขาใด จะต้องอ่านหนังสือ
วิชานั้นเพิ่มเติม การอ่านในวิชาช่วยให้ประเมินได้ว่าต้นฉบับชิ้นนั้นมีประเด็นสำคัญที่มีค่า ควรจัดพิมพ์ในขณะนั้นหรือไม่ ส่วนการอ่านเรื่องทั่วไปจะทำให้ผู้รอบรู้เหตุการณ์ ความเคลื่อนไหวของวงการอื่นๆ และสภาวะสังคม ซึ่งจะมีส่วนช่วยในการตัดสินใจจัดพิมพ์ รวมทั้งต้องใช้ความคิดเห็นของผู้ทรงคุณวุฒิในสาขาวิชานั้นช่วยพิจราณา
๒. ภาษา ควรเลือกอ่านภาษาในข้อเขียนที่ใช้ภาษาดี วรรณกรมคลาสสิก หนังสือที่ได้รับรางวัล
ในทางการใช้ภาษา รวมทั้งหาโอกาสอยู่ในแวดวงของผู้ที่ใช้ภาษาถูกต้อง
๓. รู้จักผู้อ่าน เนื่อหาและท่วงทำนองการเขียนมีส่วยอย่างมากในการกำหนดหรือกำจัดกลุ่มผู้อ่าน
๔. เทคนิควิธีการผลิตสิ่งพิมพ์ ควรรู้จักขั้นตอนและวิธีการเบื้องต้นพอที่จะพิจารณาให้ความเห็น
และประสานงานกับผู้พิมพ์ได้
๕. กฎหมายและระเบียบต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการสร้างสรรค์งานเขียน การแปลหรือดัดัแปลง การ
นำไปเผยแพร่ เรื่องสิทธิ การละเมิดสิทธิการคุ้มครองโดยกฎหมายรวมทั้งการเปลี่ยนแปลงของกฎหมายดังกล่าว
๖. การตลาด บรรณาธิการควรรู้เรื่องแวดวงการตลาดสิ่งพิมพ์อย่างครบวงจร เพราะเกี่ยวข้องกับ
ความอยู่รอดของธุรกิจการบริการ เป็นความรู้ที่จำเป็นสำหรับบรรณาธิการ ทั้งระดับบริหารและระดับปฏิบัติการ

ไม่มีความคิดเห็น: